09 พฤษภาคม 2554

การวิเคราะห์แบบพื้นฐาน Vs การวิเคราะห์แบบเทคนิค

ในโลกของการลงทุนนั้นมีแนวทางการลงทุนหลักๆอยู่สองรูปแบบคือการ การลงทุนโดยใช้การวิเคราะห์พื้นฐาน และ การลงทุนโดยใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิค แนวทางทั้งสองนั้นแบบเป็นที่ถกเถียงกันมาตลอดในบรรดากูรู ว่าประสิทธิภาพของการลงทุนแบบไหนดีกว่ากัน สำหรับนักลงทุนมือใหม่ฟังแล้วอาจจะเกิดความสงสัยว่าการลงทุนทั้งสองแบบนั้นคืออะไรและวิธีการไหนที่คุณควรเลือกใช้ในการลงทุน


การลงทุนแบบเทคนิค และ การลงทุนแบบพื้นฐานคืออะไร?

การวิเคราะห์แบบเทคนิคคือแนวทางการลงทุนที่สนใจเฉพาะการเคลื่อนไหวของราคาซื้อขายของสินค้าทางการเงินนั้นๆ และนำข้อมูลการเคลื่อนไหวของราคาในอดีตมาใช้ในการคาดการณ์ราคาในอนาคต
ในทางกลับกัน การลงทุนแบบพื้นฐานคือการลงทุนที่ไม่สนใจการเคลื่อนไหวของราคาในตลาด แต่จะมุ่งเน้นในการทำความเข้าใจ ตัวแปรพื้นฐานที่เป็นตัวกำหนดราคาซื้อขาย

แล้วการลงทุนทั้งสองแบบมันต่างกันอย่างไร?
1.       ความเชื่อและวิธีการลงทุน

นักลงทุนแบบเทคนิคนั้นมีความเชื่อว่าการทำความเข้าใจตัวแปรพื้นฐานนั้นไม่มีความจำเป็นเนื่องจากราคาซื้อขายได้สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มของตัวแปรทุกตัวไว้หมดแล้ว และข้อมูลทั้งหมดที่จำเป็นที่ต้องใช้ในการตัดสินใจถูกรวบรวมไว้ในกราฟราคาเรียบร้อยแล้ว การลงทุนแนวทางนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสถิติ นักลงทุนแบบเทคนิคนั้นไม่ได้ต้องการที่จะชนะในทุกๆครั้งที่ลงทุน มีความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะขาดทุน 9 ครั้งจากการลงทุน 10 ครั้ง แต่สิ่งที่พวกเขาต้องการคือเมื่อพวกเขาชนะ ผลกำไรที่ได้ต้องมากกว่าผลขาดทุนที่ผ่านมารวมกันทั้งหมดบวกกำไรที่เหมาะกับช่วงเวลาที่ใช้ในการลงทุน ในทางสถิติเราเรียกว่า ผลตอบแทนคาดหวัง (Expected Return) เป็นบวกนั่นเอง

สำหรับการลงทุนพื้นฐานมีความเชื่อหลักคือ การซื้อหุ้นคือการซื้อบริษัทหรือกิจการดังนั้นนักลงทุนแบบพื้นฐานจะเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจ งบดุล งบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสด และตัวแปรที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกำไร เพื่อนำมาคำนวณหา มูลค่าที่แท้จริง (Intrinsic Value) ของบริษัทที่สนใจ นี่เป็นส่วนที่ท้าทายที่สุดสำหรับการลงทุนแนวทางนี้เนื่องจากการหามูลค่าที่แท้จริงนั้นต้องเกิดจากการคาดการณ์ อนาคตของบริษัทนั้นๆ หลังจากนั้นสิ่งที่นักลงทุนแบบพื้นฐานต้องทำคือรอให้ราคาซื้อขายในตลาดลดลงมาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงจึงทำการเข้าซื้อ การลงทุนแนวนี้เปรียบเสมือนการที่คุณซื้อธนบัตรใบละ 1,000บาทด้วยเงินเพียง 800บาทนั่นเอง

2.       ระยะเวลาที่ใช้ในการลงทุน

โดยปกติแล้วการลงทุนแบบเทคนิคจะมีกรอบเวลาที่ใช้ในการลงทุนสั้นอาจจะเป็น 1 อาทิตย์ 1 วัน หรือแม้แต่ 1 นาทีเลยทีเดียว ด้วยกรอบการลงทุนที่สั้นทำให้นักลงทุนแบบเทคนิคมีการซื้อขายที่เร็วและบ่อยมาก ซึ่งจะมีข้อดีคือมีอัตราการหมุนเวียนของเงินทุนที่สูง หรือ สามารถนำเงิน 100,000บาทมาซื้อขายหลายๆครั้งทำให้เกิดมูลค่าการซื้อขายสุทธิมากกว่า 1,000,000 บาทได้ นั่นเอง แต่ข้อเสียของการหมุนเวียนสูงคือ ค่าธรรมเนียมการซื้อขาย หรือค่า commission ก็จะสูงตามไปด้วย

ในทางกลับกัน การลงทุนแบบพื้นฐานจะมองกรอบการลงทุนในระยะเวลาเป็นปี โดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ระดับ 2-5 ปี อย่างไรก็ตามก็ยังมีนักลงทุนแบบพื้นฐานหลายๆคนที่ถือหุ้นบริษัทใดบริษัทหนึ่งมากกว่า 10 ปี ตัวอย่างเช่น Warren Buffet ซึ่งเป็นปรมาจารย์ของการลงทุนแนวนี้ถือหุ้นบางตัวมากกว่า 30ปีเลยทีเดียว ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าการลงทุนแนวนี้จะมองภาพในอนาคตเพื่อประเมินมูลค่าในปัจจุบัน โดยปกติแล้วบริษัทจะมีการจัดทำงบการเงินเพียงไตรมาสละ 1 ครั้งดังนั้นการที่ราคาซื้อขายในตลาดจะสะท้อนถึงมูลค่าที่แท้จริงของกิจการที่ซ่อนอยู่จึงใช้เวลานาน หรือในบางครั้งแม้เวลาผ่านไปและราคาซื้อขายได้เพิ่มขึ้นตามมูลค่าที่เราเคยคำนวณเอาไว้แล้ว แต่เกิดตัวแปรใหม่ที่ทำให้มูลค่าที่แท้จริงในปัจจุบันเพิ่มขึ้นก็เป็นเหตุผลที่ดีที่จะเก็บหุ้นของบริษัทนั้นๆไว้

3.       เป้าหมายในการลงทุน

การลงทุนแบบเทคนิคซื้อหุ้นเพื่อที่จะขายทำกำไรจากราคาที่เพิ่มขึ้น เปรียบเสมือนการทำการค้า (Trade) ที่เราซื้อของราคาถูกมาขายในราคาแพง หรือซื้อของราคาแพงมาขายในราคาที่แพงกว่า ดังนั้นนักลงทุนแนวนี้จึงถูกเรียกว่านักค้าหุ้น (Trader) นักลงทุนเทคนิคไม่สนใจว่าหุ้นบริษัทที่เขาซื้อนั้นถูกหรือแพงตราบใดที่พวกเขาคาดการณ์ว่าจะมีคนที่ต้องการมารับซื้อกับพวกเขาในราคาที่ แพงกว่า

ในด้านของนักลงทุนพื้นฐาน มีเป้าหมายในการลงทุนคือซื้อสินทรัพย์ที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าปัจจุบัน หรือสินทรัพย์ที่พวกเขาเชื่อว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเนื่องจากปัจจัยพื้นฐานที่ดีขึ้นของสินทรัพย์ตัวนั้น

แล้วเราจะสามารถนำการลงทุนทั้งสองแบบมาผสมกันได้หรือไม่

การลงทุนทั้งสองแบบนั้นโดยหลักการนั้นเอามาใช้ร่วมกันได้ แต่ปัญหาคือ การลงทุนแบบเทคนิคมักจะชอบความผันผวนสูงซึ่งจะทำให้มีโอกาสในการซื้อขายทำกำไรสูง แต่หุ้นที่มีพื้นฐานที่ดีนั้นโดยส่วนใหญ่แล้วจะมีความผันผวนต่ำทำให้ไม่สามารถลงทุนโดยใช้กรอบเวลาที่สั้นแบบการลงทุนเทคนิคได้

ตอนนี้คุณได้เรียนรู้แนวทางการลงทุนทั้งสองแบบแล้ว แต่อาจจะยังมีคำถามว่าแล้วแบบไหนที่จะเหมาะกับคุณละ? คุณสามารถตอบคำถามนี้ได้ด้วยการสำรวจนิสัยของตัวคุณเอง ถ้าคุณเป็นคนใจเย็นและชอบการวิเคราะห์ การลงทุนแบบพื้นฐานน่าจะเหมาะกับตัวคุณ ถ้าคุณเป็นคนใจร้อนและตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาการลงทุนแบบเทคนิคอาจเป็นคำตอบที่ดีกว่าสำหรับคุณ แต่เหนือสิ่งอื่นใดไม่ว่าคุณจะเลือกการลงทุนแบบไหนก็ตาม ความมีวินัย คือสิ่งที่คุณจำเป็นต้องมี ในการลงทุนให้ประสบผลสำเร็จ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น